ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สำรวจสถานภาพพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยปี 2550

สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทำการสำรวจสถานภาพพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ของประเทศไทยปี 2550 นี้ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของธุรกิจที่มีการขายสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งในเรื่องของประเภทธุรกิจที่ทำ จำนวนคนทำงาน มูลค่าขายค่าใช้จ่าย การจัดส่งสินค้า การชำระเงิน รวมทั้งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของธุรกิจด้านนี้ในมุมมองของผู้ประกอบการ ซึ่งภาครัฐต้องเข้าไปสนับสนุน และทิศทางการปรับตัวที่สำคัญ ๆ ของภาคธุรกิจ เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนสิงหาคมปี 2550 โดยวิธีการส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ ทางอีเมล์ รวมทั้งนำแบบสอบถามขึ้นเว็บไซต์ ให้ผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดไม่น้อยกว่า 30,000 ราย เข้ามาตอบ โดยมีแบบสอบถามที่สมบูรณ์และสามารถนำมาประมวลผลได้ทั้งสิ้น ประมาณ 1,539 แบบ จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด ประมาณ 39,500 ราย

ผลจากการสำรวจ สรุปได้ดังนี้ คือ
2.1 ลักษณะทั่วไปของธุรกิจ
ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยส่วนใหญ่ เป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีคนทำงานไม่เกิน 5 คน ถึงร้อยละ 73.6 และเป็นธุรกิจประเภท B2C ถึงร้อยละ 85.3

โดยแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ ร้อยละ 18.5 กลุ่มแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับ ประมาณร้อยละ 18.0
แยกตามประเภทอุตสาหกรรมของธุรกิจ B2B พบว่า อุตสาหกรรมที่ทำกันมาก 5 อันดับแรกคือ สิ่งทอ/เสื้อผ้า รถยนต์ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์
ส่วนอุตสาหกรรมที่มีมากในธุรกิจ B2C คือ สิ่งทอ เสื้อผ้า การท่องเที่ยว/จองตั๋ว คอมพิวเตอร์น้ำหอม เครื่องสำอาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ธุรกิจส่วนใหญ่ขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาไม่นานนัก คือน้อยกว่า 1 ปี ถึงร้อยละ 40.4 และ 1–2 ปี ร้อยละ 26.7 ส่วนที่ดำเนินธุรกิจประเภทนี้มามากกว่า 8 ปีขึ้นไป มีอยู่เพียงร้อยละ 6.3 เท่านั้น และประมาณครึ่งหนึ่งของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมด (ร้อยละ 50.5) จะขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และขายโดยมีหน้าร้านด้วย ส่วนที่ขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว มีร้อยละ 41.8

2.2 ผลการประกอบการ
ในปี 2549 ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มียอดขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้นประมาณ 305,159 ล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าที่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างโดยการ E-Auction ของภาครัฐ จำนวน 176,683 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 57.9 ของยอดขายทั้งหมด)
ส่วนที่เป็นยอดขายของผู้ประกอบการ B2B มีประมาณ 79,726 ล้านบาท (ร้อยละ 26.1) ส่วนที่เหลือ 47,501 ล้านบาท เป็นยอดขายของผู้ประกอบการ B2C

2.3 วิธีการดำเนินธุรกิจ
ประมาณร้อยละ 64.4 ของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด มีการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดผ่านการออนไลน์ ในจำนวนนี้เป็นธุรกิจที่ทำทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ประมาณร้อยละ 31.4 วิธีการประชาสัมพันธ์แบบออนไลน์ที่ใช้กันมากที่สุด คือ การโฆษณาผ่านเว็บบอร์ดตามเว็บไซต์ต่าง ๆ (ร้อยละ58.0) ทางอีเมล์ (ร้อยละ 48.8) และทางเสิร์ชเอ็นจิ้น (ร้อยละ 45.4)

ไม่มีความคิดเห็น:

Powered By Blogger